สวัสดีค่ะทุกท่าน
หัวข้อครั้งนี้คือ “จุดแตกต่างที่สร้างความแตกต่างคืออะไร”
ดิฉันเข้าศึกษาระดับปริญญาโทเมื่อเดือนเมษายน
และไม่ทันไรภาคเรียนแรกก็จบลงแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน
ถึงแม้การเรียนปริญญาโทจะมีสิ่งต่างๆ มากมายที่ต้องเรียนรู้
แต่เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับประสบการณ์และงานของตนก็พบว่าเข้าใจได้ง่าย
ดังที่กล่าวไว้ใน Essay เดือนสิงหาคม 2018 เรื่อง “สิ่งที่ Input แล้วต้อง Output จึงจะเป็นการ Input ที่แท้จริง” ว่าการ Output (เรียบเรียงเป็นคำพูด) เป็นเรื่องที่ยากไม่เบา
เมื่อวันก่อนอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยถามดิฉันดังนี้
เมื่อนำบริษัทที่คุณมาเอดะบริหารงานอยู่มาเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น
หากพบว่ามี ‘“จุดแตกต่าง” ที่สร้างความแตกต่าง’ คุณคิดว่าสิ่งนั้นคืออะไร
และหากว่ามีกลไกสำหรับทำให้ความแตกต่างนั้นคงอยู่ได้นาน สิ่งนั้นคืออะไร
เมื่อได้ฟังคำถามนี้ สมองของดิฉันก็แล่นหาคำตอบราวกับการสืบค้นของ Google
จุดแตกต่างที่สร้างความแตกต่าง หมายถึงอะไรกันแน่ ????
กลไก ????
สิ่งที่คิดได้ในเวลานั้นคือภาพภูเขาน้ำแข็งนี้ค่ะ
(อ้างอิง : จาก “仕事に役立つ経営学”
เรื่อง “5.変わり続けることに対応できる人と職場をつくる”
Nikkei Bunko, 2014, น. 102)
แบบจำลองนี้แบ่งออกเป็นปัจจัยแข็ง (เนื้อหา) กับปัจจัยอ่อน (กระบวนการ)
แต่จะพบว่าปัจจัยอ่อน (กระบวนการ) ที่อยู่ใต้น้ำมีขนาดใหญ่กว่า
ปัจจัยแข็ง (เนื้อหา) ที่ปรากฏเหนือน้ำเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาและไม่ว่าใครก็สามารถรับรู้ได้
ดิฉันคิดว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่เลียนแบบกันได้
ถึงแม้ว่าเลียนแบบแล้วจะมี “ระดับความลึกไม่เหมือนกัน” อยู่บ้างก็ตามที
แล้วสิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดและไม่สามารถเลียนแบบได้ง่ายๆ
แม้จะเลียนแบบได้แต่ต้องใช้เวลาคืออะไร
ดิฉันคิดว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็น “จุดแตกต่างที่สร้างความแตกต่าง”
หากเปรียบเทียบบริษัทของตนกับบริษัทอื่นแล้วมีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ก็คือส่วนที่เป็นบรรยากาศองค์กรและคุณลักษณะองค์กร
ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้คือส่วนที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สไตล์ของบริษัท”
ที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องของบริษัท แต่ก็สามารถนำมาใช้กับคนได้เช่นกัน
กรณีของคน ส่วนที่เป็น “สไตล์ของบริษัท” จะเรียกว่า “เอกลักษณ์”
ส่วนนี้คือ “จุดแตกต่างที่สร้างความแตกต่าง” ของบริษัทและของตัวท่านเอง และเป็น “จุดแข็ง” ด้วยเช่นกัน
ดิฉันขอถามผู้อ่านทุกท่านนะคะ
“จุดแตกต่างที่สร้างความแตกต่าง” ของตัวท่านคืออะไร